Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

ข้อมูลทั่วไป
 
ประวัติความเป็นมา วิสัยทัศน์และพันธกิจ ตราสัญลักษณ์
  • วิถีชีวิตชนบทริมสายน้ำที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางเมือง เพราะแวดล้อมไปด้วยลำคลองนับร้อยสาย ชาวบางโพธิ์จึงมีจิตวิญญาณที่ผูกพันกับธรรมชาติและเห็นคุณค่าของวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมที่ไม่มุ่งเน้นในวัตถุ การก่อตั้งหรือแบ่งเขตการปกครองมาเป็นตำบลบางโพธิ์ในปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานทางราชการที่บ่งบอกชัดเจน เพียงเมื่อสืบค้นย้อนหลังถึงผู้นำในอดีตตั้งแต่สมัยโบราณเท่าที่รวบรวมได้จากเอกสารและคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่สันนิษฐานได้ว่าชุมชนตำบลบางโพธิ์เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงประมาณปี พ.ศ. 2440 – 2450

    พื้นที่ตำบลบางโพธิ์ในปัจจุบัน แรกเริ่มแต่เดิมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตำบลที่ชื่อว่า “ตำบลป่าเหล้า” โดยมีที่มาที่สืบค้นได้ว่าเป็นการตั้งชื่อตามความเชื่อถือของคนสมัยโบราณโดยตั้งชื่อตาม “พ่อตาเจ้าที่” หรือที่เรียกว่า “เจ้าที่เจ้าทาง” นั่นเอง เพราะเชื่อว่าที่บริเวณนี้มีเจ้าที่ คือ พ่อตาเหล้า แม่ยายสร้อย เป็นผู้ดูแล จึงใช้ตั้งเป็นชื่อของตำบลและแจ้งต่อทางราชการ และไม่มีข้อมูลยืนยันว่าพื้นที่ในบางมีกี่ตำบล ตำบลอะไรบ้าง สภาพภูมิประเทศในสมัยนั้น พื้นที่ในบางและตำบลป่าเหล้ามีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น มีต้นไม้นานาชนิดแต่เป็นไม้ประเภทที่งอกอยู่ในพื้นที่ซับน้ำซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ต้นลำพู ต้นจิก ต้นไทร ต้นยาง ต้นรัก ต้นโหรง ต้นหลุมพอ ต้นน้ำนอง ต้นปอทะเล ต้นลำ ต้นเสม็ด ต้นหลุมปัง ต้นแสม เป็นต้น เมื่อต้นไม้ถูกตัดโค่นเพื่อสร้างประโยชน์เราจึงไม่พบร่องรอยของตอไม้ ราก ใบในอดีต และยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ตัวนิ่ม เสือปลา กวาง เก้ง หมูป่า กระรอก ตะกวด นาก ลิงหางยาว จระเข้ เป็นต้น

    ตำบลบางโพธิ์มีกำนันคนแรก ชื่อพันบวง พรหมเพ็ชร ได้เป็นกำนันเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2449 (เท่าที่สืบค้นได้) การปกครองสมัยนั้นเป็นการปกครองโดยคณะกรรมการตำบล ทางราชการได้มีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองให้มีรูปแบบและขอบเขตของพื้นที่ ที่เหมาะสมง่ายแก่การควบคุมดูแลโดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศ ลำคลอง ลำบาง เป็นแนวเขตแบ่งพื้นที่หมู่บ้านและตำบล โดยฝั่งในบางประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 6 ตำบล จำนวน 31 หมู่บ้าน

    บางโพธิ์ที่ได้ชื่อบางโพธิ์นั้น เนื่องจากมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ปากบางและที่หน้าวัดโชติการาม มีเรื่องล่ำลือต่อกันมาจากในอดีตว่า ใต้ดินตรงโคนต้นมีสมบัติล้ำค่าฝั่งอยู่และยังไม่มีใครขุดพบต้องตีปัญหาลายแทงคำกลอน “บางโพธิ์มีโอ่งปากหนา ข้างตกหญ้าคา ข้างออกหญ้าขิง ใครคิดไม่ออก ไปถามรอกกับลิง จึงจะหาสมบัติเจอ” ปัจจุบันต้นโพธิ์ใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว เพราะตลิ่งพังจมสูญหายไปเมื่อ 50 – 60 ปีก่อน

    ตำบลบางโพธิ์มีกำนันคนแรกชื่อ พันบวง พรหมเพ็ชร ประวัติข้อมูลของผู้นำ(กำนัน) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีกำนันรวมทั้งสิ้น 8 คนดังต่อไปนี้

    • 1. กำนันบวง พรมเพ็ชร (ม.1) ประมาณปี พ.ศ. 2449 - 2480
    • 2. กำนันชู นาคทองคง (ม.3) ประมาณปี พ.ศ. 2481 - 2499
    • 3. กำนันชม ศรีประดิษฐ์ (ม.4) ประมาณปี พ.ศ. 2500 – 2517
    • 4. กำนันประมูล กระสินธุ์ (ม.1) ประมาณปี พ.ศ. 2518 - 2540
    • 5. กำนันเสรี อินทร์จันทร์ (ม.4) ประมาณปี พ.ศ. 2541 - 2549
    • 6. กำนันวีระ ชูกล่อม (ม.2) ประมาณปี พ.ศ. 2550 - 2551
    • 7. กำนันสุคนธ์ กัณหาแก้ว (ม.3) ประมาณปี พ.ศ. 2552 - 2553
    • 8. กำนันสมชาย บำรุง (ม.1) ประมาณปี พ.ศ. 2554 – ปัจจุบัน

    โดยมีเขตการปกครองรวม 5 หมู่บ้าน มี ม.1-บ้านบางขาม ม.2-บ้านท่าอิฐ ม.3-บ้านคลองขวาง ม.4-บ้านท้องทราย ม.5-บ้านท่าพลูเถื่อน ชาวตำบลบางโพธิ์มีทั้งคนพื้นเพดั้งเดิมและคนที่อพยพถิ่นฐานมาจากที่อื่น เช่น ตำบลใกล้เคียง ได้แก่ ชาวพุนพินใต้ ชาวท่าฉาง ชาวลีเล็ด ชาวบางใหญ่ เป็นต้น คนต่างจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม เป็นต้น มีประเพณีดั้งเดิม ได้แก่ การทำบุญเดือนสิบ วันจบปีจบเดือน การสวดบาง ทำขวัญข้าว เป็นต้น อาชีพหลักของคนตำบลบางโพธิ์ คือ อาชีพทำสวนมะพร้าว สวนปาล์มน้ำมัน เลี้ยงกุ้งขาววานาไมค์ อาชีพรองได้แก่ การทำประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง รับจ้าง

  • วิสัยทัศน์


               “ภายในปี 2566-2570 ตำบลบางโพธิ์จะมุ่งสู่การเป็นพื้นที่เกษตรคุณภาพทำการเกษตร แบบผสมผสาน และได้รับการยอมรับด้านการท่องเที่ยวชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้สูงอายุ”

    พันธกิจ
    • 1. พัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
    • 2. บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎรและเพื่อส่งเสริมด้านสวัสดิการสังคม
    • 3. ส่งเสริมการจัดระเบียบชุมชน สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความสมานฉันท์ ให้สังคมสงบสุข
    • 4. ส่งเสริม สนับสนุนการท่องเที่ยวให้เกิดความเข้มแข็งและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • 5. ส่งเสริม อนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมประเพณี จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทำนุบำรุงศาสนา
    • 6. ส่งเสริมการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล